ค้นหา

Custom Search

วันพุธที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ก้าวแรก..สู่การเป็นข้าราชการ

สำหรับบางคนที่เริ่มสนใจการเป็นข้าราชการ ไม่ว่าจะเพิ่งเรียนจบ หรือเรียนจบแล้ว แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร อะไรคือ ภาค ก. อะไรคือ ภาค ข. สอบกันอย่างไร เพื่อจะได้สวมชุดสีกากีได้บรรจุเป็นข้าราชการ การที่จะได้เข้าไปทำงานในหน่วยงานภาครัฐไม่ว่าจะเป็น กระทรวง ทบวง กรม หรือ หน่วยงานอื่นๆ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งในการประกาศรับสมัครแต่ละครั้งของหน่วยงานภาครัฐก็จะมีทั้งแบบคัดเลือก และสอบแข่งขันฯ ในที่นี้ขอกล่าวถึงแต่เฉพาะการสอบแข่งขันนะครับ จะขอเล่ากันแบบไม่เป็นทางการ เอาประเด็นที่มักจะถูกถามบ่อยๆ หากผิดพลาดก็ช่วยกันท้วงติง เสริมเติมได้นะครับ


ในการสอบแข่งขันฯ ของแต่ละหน่วยงานก็มีส่วนที่คล้ายและแตกต่างกัน

ขั้นแรก..ตรวจสอบคุณสมบัติของตัวเอง ต้องรับรองตัวเองนะครับ ถ้าคุณสมบัติไม่ตรงกับประกาศรับสมัครต่อให้ว่าสอบผ่านจนถึงขั้นบรรจุเมื่อหน่วยงานที่รับเข้าไปตรวจสอบพบก็ไม่สามารถจะกล่าวโทษใครได้ ฉะนั้นก่อนอื่นใดตรวจสอบคุณสมบัติของตัวเองให้ดี ในอดีตบางคนไปตรวจพบตอนจะเลื่อนขั้นเลื่อนระดับ ต้องไปเริ่มนับหนึ่งใหม่เสียดายอายุราชการ หลายคนมักสับสนกับคำว่า.. "เทียบได้ไม่ต่ำกว่านี้" ก็คิดเอาว่าถ้าสูงกว่าก็ได้สิ ไม่ใช่นะครับ สูงกว่าก็ไม่ได้ เช่น ถ้ารับ ปวส. ก็ต้อง ปวส. เอาคุณวุฒิปริญญาตรีมาใช้แทนกันไม่ได้ หรือถ้าบอกว่า ปริญญาตรี สาขาบริหารธุรกิจ แต่บังเอิญตอนเรียนปริญญาตรี สาขารัฐศาสตร์ แต่มีคุณวุฒิปริญญาโท สาขาบริหาร ก็เข้าใจว่าสมัครได้ โดยเอาปริญญาโทไปสมัคร กรณีอย่างนี้ก็ไม่ได้นะครับ หรืออีกกรณี ประกาศรับ ปวช. เอาวุฒิ ม.6 ไปสมัคร แบบนี้ก็ไม่ได้เช่นกัน แล้วอะไรที่เรียกว่าเทียบได้ไม่ต่ำกว่านี้ ก็เช่น ถ้ารับ ปวส. คุณวุฒิ ปวท. สามารถเทียบได้ หรืออนุปริญญาก็เทียบได้ กับ ปวส. สาขาต้องตรงด้วยนะครับ ส่วนนี้บางทีอาจจะอยู่ในภาคผนวกของประกาศรับสมัครสอบ เกี่ยวกับคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง และถ้าพบคำว่า สังคมศาสตร์ ดูต่อนะครับว่าทุกสาขาหรือเปล่า ถ้าทุกสาขา หมายถึง ทุกสาขา จะเป็น ศศ.บ. บธ.บ. ค.บ. ฯลฯ สมัครได้หมด ยกเว้น วท.บ., พบ. พวกวิทยาศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ นะครับ และสำหรับคนที่จบรามคำแหง รัฐศาสตร์ แพลน C ถ้าประกาศรับสายบริหารสมัครได้..ก็ลุ้นได้ครับ เพราะแพลนซีจะเป็นบริหารรัฐกิจ เคยพบกรณีนี้มาแล้วนะครับ แพลนอื่นสมัครไม่ได้ แต่แพลนซีสมัครได้ครับ

ขั้นที่สอง..เตรียมสอบ เมื่อตรวจสอบคุณวุฒิของตัวเองดีแล้วเรามาลองดูหลักสูตรการสอบ ในประกาศจะแจ้งไว้เลยว่าจะสอบอะไรบ้าง แต่อย่างไรก็ตามผู้ที่ได้รับการบรรจุทุกคนจะต้องผ่านการสอบ ภาค ก. ภาค ข. และ ภาค ค. และอาจมีการทดสอบเพิ่มเติมอีกเช่น การทดสอบสมรรถนะ หรือสอบปฏิบัติ แล้วแต่ว่าในประกาศฯ จะระบุไว้ว่าอย่างไร ทั้งหมดนี้อาจจะสอบพร้อมหรือไม่พร้อมกันก็ได้ หลังจากสมัครหน่วยงานจะแจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบ วัน เวลา สถานที่ และเงื่อนไขการสอบอีกครั้ง

การสอบด่านแรก..ภาค ก.
ภาคความรู้ความสามารถทั่วไป แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ประเภทที่ไม่นำคะแนนภาค ก. มาร่วมในการจัดลำดับขึ้นบัญชีเพื่อบรรจุ เอาแค่ผ่านเกณฑ์ 60 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันมีเพียง ก.พ. ที่จัดสอบ ภาค ก. และออกใบรับรองผลผ่านภาค ก. ให้ใช้ได้ตลอดชีวิต นำไปใช้เป็นหลักฐานในการสมัครสอบภาค ข. ในหน่วยงานระดับกระทรวง ทบวง กรม คะแนนที่ได้จากการสอบ ภาค ก. ก.พ. ไม่มีผลในการจัดลำดับขึ้นบัญชีนะครับ และในภาค ก. ของ ก.พ. จะแบ่งออกเป็น 4 ระดับ คือ ระดับ ปวช. ระดับ ปวส. ระดับปริญญาตรี และระดับปริญญาโท ในการนำไปใช้ก็มีความจำเป็นต้องใช้ให้ตรงกับระดับที่สมัครด้วย วิชาที่สอบก็มีคณิตศาสตร์กับภาษาไทย

ภาค ก. อีกประเภทจะนำผลคะแนนภาค ก. ที่สอบได้ไปรวมกับ ภาค ข. และภาค ค. เพื่อจัดลำดับขึ้นบัญชีเรียกบรรจุ เมื่อเสร็จสิ้นการขึ้นบัญชีแล้วก็จะไม่มีการเก็บผลคะแนนภาค ก. ไว้ เมื่อมีการรับสมัครใหม่ก็ต้องสอบภาค ก. ใหม่ทุกครั้ง ฉะนั้น ในลักษณะนี้ภาค ก. จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ท่านได้รับการบรรจุก่อนหรือหลังคู่แข่ง ยกตัวอย่างหน่วยงานที่มีการสอบภาค ก. ใหม่ทุกครั้ง เช่น กทม. อปท. หรือองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ข้าราชการตำรวจ ทหาร ครู สตง. รัฐสภา

วิชาที่สอบภาค ก. ประเภทหลังนี้ นอกจากคณิตศาสตร์ และภาษาไทย แล้วอาจจะมีส่วนที่เป็นกฎหมาย กฎ ระเบียบ ที่ใช้ในการปฏิบัติราชการด้วยนะครับ แต่ถ้าผลคะแนนภาค ก. ไม่ถึง 60% เขาก็ไม่ตรวจภาค ข. มาถึงตรงนี้จะเห็นว่าแต่ละคะแนนของภาค ก. ที่มีการจัดสอบแบบนี้ มีความสำคัญกว่าแบบเก็บผลผ่านของ ก.พ. ทุกคะแนนมีความหมาย

การสอบภาค ก. นอกจากความถูกต้องแล้วต้องสปีด..เร็วกว่านรกครับท่าน โดยมากมักจะบ่นกันว่าทำไม่ทัน ที่หนักหนาสาหัสน่าจะเป็นส่วนของภาษาไทยที่บางครั้งให้บทความมายาวมาก และหัวข้อเด็ดสังหารหมู่จะเป็นเรื่องข้อบกพร่องทางภาษา ในส่วนของความสามารถทั่วไปหรือคณิตศาสตร์ จะเป็นเรื่องตรรกะ และเงื่อนไขภาษา ที่จะทำให้เสียเวลาค่อนข้างเยอะ


การสอบด่านทีสอง..ภาค ข.
ภาคความรู้ความสามารถเฉพาะตำแหน่ง หลังจากสอบภาค ก. แล้วไม่ว่าจะเป็นแบบเก็บผลคะแนนหรือไม่เก็บผลคะแนน ถ้าผ่านเกณฑ์ 60% คุณก็จะมีสิทธิ์..ไปต่อ ก็ต้องสอบภาค ข. เนื้อหาวิชาที่จะสอบก็จะเป็นพวกกฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับงานในตำแหน่งหน้าที่ที่รับผิดชอบ ส่วนนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่จะตัดคะแนนกันว่าใครหมู่ใครจ่า ข้อสอบออกง่ายคะแนนก็เกาะกลุ่มกัน พลาดสักคะแนนลำดับก็หลุดไปไกล ข้อสอบออกยาก เอาแค่เกณฑ์ 60% ก็หืดจับแล้วละครับ วางดินสอเดินออกจากห้องสอบกันเป็นแถว ก็ขึ้นกับว่าใครมีความละเอียดแม่นยำ แตกฉาน กว่ากันในการทำข้อสอบ มิหนำซ้ำบางตำแหน่งอ่านกันเป็นครึ่งค่อนเล่มออกแค่ไม่กี่ข้อ อันนี้เหนื่อย ถ้างานที่สอบระดับประเทศที่มีผู้สมัครจำนวนมาก ต้องเตรียมตัวแต่เนิ่นๆ ครับ

กฎหมายหลักๆ ที่อ่านรอไว้ได้เลย ถ้าใจรักจะเป็นข้าราชการตัวจริง กฎหมายรัฐธรรมนูญ ระเบียบข้าราชการพลเรือนสามัญ ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ บริหารราชการแผ่นดิน กิจการบ้านเมืองที่ดี ระเบียบสำนักนายกว่าด้วยงานสารบรรณ วิธีปฏิบัติทางราชการ เหล่านี้เป็นกฎหมายที่ทุกตำแหน่งต้องใช้สอบบ่อยๆ ครับ และต้องติดตามข่าวสารเหตุการณ์ปัจจุบันที่เป็นประเด็นสำคัญทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ทั้งในและต่างประเทศ ความรู้รอบตัว

หลังจากการสอบภาค ข. แล้ว ก็จะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบภาค ค. ก็หมายความว่าสอบผ่านด่านแรก ภาค ก. และด่านที่สอง ภาค ข. แล้ว เตรียมสอบด่านต่อไป ภาค ค. เห็นรายชื่อตัวเองอยู่ลำดับต้นๆ อย่าเพิ่งด่วนตกใจหรือดีใจนะครับ เพราะเป็นการจัดตามลำดับที่สมัครสอบยังไม่มีผลกับการเรียกบรรจุต้องเอาคะแนนทั้งหมดไปรวมกับภาค ค. ก่อน

การสอบด่านที่สาม..ภาค ค.
ภาคความเหมาะสมกับตำแหน่ง จะเป็นการสอบสัมภาษณ์ อย่าเผลอคิดว่าเป็นการประกวดมิสยูนิเวิร์สนะครับ ยิ้มและกวาดสายตาให้กับกรรมการทุกท่าน รักเด็ก รักธรรมชาติ อาจจะไม่พอสำหรับการสอบภาค ค. เพื่อบรรจุเป็นข้าราชการ เรื่องที่เกี่ยวกับหน่วยงานที่สมัครสอบต้องทราบนะครับ เป็นการประเมินบุคคลเพื่อพิจารณาความเหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ จากประวัติส่วนตัว ประวัติการศึกษา ประวัติการทำงาน จากการสังเกตพฤติกรรมที่ปรากฏของผู้เข้าสอบ และจากการสัมภาษณ์

ทั้งนี้ อาจใช้วิธีการอื่นใดเพิ่มเติมเพื่อพิจารณาความเหมาะสมในด้านต่างๆ เช่น ความรู้ที่อาจใช้เป็นประโยชน์ในการปฏิบัติงานในหน้าที่ ความสามารถ ประสบการณ์ ท่วงทีวาจา อุปนิสัย อารมณ์ ทัศนคติ จรรยาบรรณของข้าราชการพลเรือน คุณธรรม จริยธรรม การปรับตัวเข้ากับผู้ร่วมงาน รวมทั้งสังคม และสิ่งแวดล้อม ความคิด

ริเริ่มสร้างสรรค์ ปฏิภาณ ไหวพริบ และบุคลิกภาพอื่น เป็นต้น และรวมถึงสมรรถนะหลัก สมรรถนะที่จำเป็นของตำแหน่ง

ทั้งนี้ จะทดสอบภาคความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่งก่อน และเมื่อสอบผ่านภาคความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่งแล้ว จึงจะมีสิทธิเข้าสอบภาคความเหมาะสมกับตำแหน่ง

บางหน่วยงานก็มีการสอบสมรรถนะเพิ่มเติม หรือสอบปฏิบัติ แล้วแต่เงื่อนไขในประกาศรับสมัครสอบนะครับว่าจะกำหนดหลักสูตรการสอบไว้เช่นไร เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดสอบนายสิบตำรวจ สายปราบปรามต้องวิ่ง ต้องว่ายน้ำ

หลังจากนั้นหน่วยงานที่รับสมัครสอบจะประกาศรายชื่อผู้สอบผ่านภาค ค. และเรียกบรรจุตามลำดับ ตามจำนวนอัตราที่ได้ประกาศไว้ในเบื้องต้น ส่วนที่เหลือจะเก็บบัญชีไว้ 2 ปี ในบางหน่วยงานประกาศอัตราแรกรับน้อยมากๆ แต่หลังจากเรียกรอบแรกผ่านไปแล้ว ก็อาจเรียกเพิ่มไปเรื่อยๆ จนหมดบัญชีก็เคยมีบ่อยๆ ครับ หรือบางทีอาจมีหน่วยงานอื่นมาขอใช้บัญชีก็เป็นสาเหตุให้เรียกบรรจุจนหมดบัญชีก่อนที่บัญชีจะหมดอายุนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ติวฟรีออนไลน์ by actsoi1.com

บทความที่ได้รับความนิยม

คลังบทความของบล็อก